อ    แทนพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ
อุ    แทน พระพรหมา หรือ พระพรหมธาดา
ม    แทน พระศิวะ หรือ พระอิศวร

เมื่อรวมกันเข้าอักษรเดียวกันกลายเป็นอักษร ***  แทนพระปรมาตมัน พระเจ้าสูงสุดไม่มีตัวตน สัญลักษณ์นี้ทุกนิกายทุกลัทธิในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต้องใช้เป็นประจำ

รองลงมาก็ คือเครื่องหมายสวัสติกะ เป็น สัญลัษณ์ที่ทุกนิกายและทุกลัทธิใช้เป็นส่วนมาก เครื่องหมายสวัสติกะนี้เป็นเครื่องหมายแทนพระพิฆเนศวร หรือ พระคเนศ หมายถึง เป็นมงคลทุกทิศทุกทางทุกด้านทุกมุม ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง

รองลงมาอีก มีเครื่องหมายสัญลักษณ์หลายอย่าง ซึ่งแต่ละนิกายและลัทธิใช้กันประจำ นิกายและประจำลัทธิ อาทิเช่น นิกายไศวะเอารูปตรีศูล *** เป็นสัญลักษณ์ประจำไศวะ นิกายไวษณพเอารูปจักร เป็นสัญลักษณ์ประจำนิกายไวษณพ นิกายศากกตเอารูปตรีศูล หรือ หอก เป็นสัญลักษณ์ประจำนิกาย นิกายสฺมารฺต เอารูปโอม ***  เป็นสัญลักษณ์ประจำนิกาย ดังนี้ เป็ฯต้น

ในประเทศไทย เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ใช้รูป ทั้งตรีศูลและตัวอักษร อ อุ ม เป็นสัญลักษณ์ , สมาคมฮินดูสามาช ใช้ตัวอักษรโอม *** เป็นสัญลักษณ์ , สมาคมฮินดูธรรมสภา ใช้รูปโอมล้อมรอบด้วยสวัสติกะและจักรในรูปวงกลมเป็นสัญลักษณ์

ทั้งสามสถาบันดังกล่าวรวมกันเรียกว่า องค์กรศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมีสัญลักษณ์ร่วม คือ ตัวโอมอยู่ในระหว่างตรีศูล นอกจากนี้ยังมีรูปดอกบัว สังข์ คฑา ช้าง โค พระอาทิตย์ นกยูง นาค สิงโต (งู) คันไถ และ อื่นๆ ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำนิกายและประจำลัทธิด้วย แต่ทิ้ง ***  โอมฺ ไม่ได้

นิกายและลัทธิในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

นิกายใหญ่ๆ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มี ๔ นิกายด้วยกัน คือ

๑.
นิกาย ไศวะ  ถือพระศิวะเป็นใหญ่ และนับถือพระนารายณ์ พระพรหมา และเทพอื่นๆ ด้วย
๒.
นิกาย ไวษณพ   ถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ และนับถือ พระศิวะ พระพรหม และ เทวดาอื่นๆ ด้วย
๓.
นิกาย ศากฺต ถือพระแม่อาทิศักตี หรือ พระแม่ปราศักตีเป็นใหญ่ องค์เทวีทั้งปวงเป็นปางของพระแม่อาทิศักตีหรือพระแม่ปราศักตีนั้นเอง และนับถือพระพรหมา พระนารายณ์ พระศิวะและองค์เทพอื่นๆ ด้วย
๔.
นิกาย สฺมารฺต ถือห้าองค์ด้วยกัน คือ พระพิฆเนศวร พระแม่ภวานี คือ พระแม่อิศักตี พระพรหมา พระนารายณ์ พระศิวะ ไม่องค์ใดใหญ่กว่ากันโดยเฉพาะ

ทั้ง ๔ นิกายนี้ ถือว่า พระปรมาตมันไม่มีรูป ไม่มีตน เป็นพระเจ้าสูงสุด และ พลังของพระปรมาตมัน คือ พระแม่อาทิศักตี บางตำราก็เรียกชื่อว่าพระปรมาตมันว่า อาทิปุรุษ และ ประพรหม ด้วย มีลัทธิที่แยกจาก
ทั้งสี่นิกาย มีหลายร้อยนิกายด้วยกัน แต่ละนิกายมีเทวดาสำหรับบูชาสักการะมีพระปรมาจารย์ผู้กำเนิดนิกาย แต่ทุกนิกายถือว่าพระปรมาตมันเป็นพระเจ้าสูงสุดและตัวอักษร โอมฺ ใช้เป็นสัญลักษณ์ทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีนิกายมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่เป็นครอบครัวใน สนาตนธรรม คือ พราหมณ์-ฮินดู เดียวกัน

จุดมุ่งหมายของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

จุดมุ่งหมายของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ก็เพื่อนำบุคคลไปสู่ความหลุดพ้น ความหลุดพ้นในที่นี้หมายถึง หลุดพ้นจากกองกิเลสและกองทุกข์ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหลุดพ้นไปแล้วก็จะกลายเป็นเอกภาพมีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับพระปรมาตมันด้วย ภาวะหนทางหรือความเป็นไปเช่นนี้ เรียกว่า “โมกฺษคติ” หรือ “พรหมมารฺค”

โมกฺษ คือ ความหลุดพ้น ส่วนคติ คือทาง ทางไป หรือทางดำเนิน เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกันเข้าแล้วจึงหมายความว่า ทางไปสู่ความหลุดพ้น หรือทางแห่งความหลุดพ้นนั่นเอง บุคคลใดก็ตามเมื่อบรรลุสภาพแห่งความหลุดพ้นเช่นนี้แล้ว บุคคลนั้นก็เป็นอันว่า ไม่มีวันที่จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป โมกฺษในคติพราหมณ์ – ฮินดู ถือว่า “มีสภาพไปกลมกลืนรวมอยู่กับพระปรมาตมัน”

ในโลกนี้มีโยนิ คือ สัตว์ทั้งหลาย อยู่ถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐ ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์เพียงประเภทเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษโดยเฉพาะ ในอันที่จะปฏิบัติการเพื่อ “โมกฺษ” ได้คือ “มนุษย์” เพราะเหตุฉะนั้น คัมภีร์นานาประเภททางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงกล่าวไว้เป็นคติเตือนใจว่า หากชีวใดหรือวิญญาณดวงใดก็ตาม ได้มีโอกาสมาถือปฏิสนธิเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ปฏิบัติการเพื่อหาหนทางไปสู่โมกฺษคติ โดยถือหลักแห่งมนุษยธรรม คือ ธรรมะ หรือหลักและวิธีการที่มนุษย์จะพึงประพฤติปฏิบัติกลับหันไปประพฤติปฏิบัติแต่อธรรมแล้วไซร้ ชีวนั้นหรือวิญญาณดวงนั้นก็ชื่อว่าเป็นมนุษย์ แต่เพียงร่างกายเท่านั้น จะได้มีความแตกต่างจากสัตว์เดียรัจฉานแม้แต่ประการใดก็หาไม่

ถึงแม้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะสั่งสอนหรือเน้นซึ่งหลักการแห่ง “โมกฺษคติ” หรือ ทางแห่งความหลุดพ้นไว้เช่นนี้แล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะปล่อยให้เป็นภาระแก่เทพเจ้า หรือ อาศัยแต่เทพเจ้าเป็นที่พึ่งอยู่แต่ฝ่ายเดียวก็หาไม่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ยังอาศัยกรรมของตนอยู่นั่นเอง คัมภีร์พระเวทจึงได้สอนไว้ว่า มนุษยชาติทั้งหลาย ควรปฏิบัติตามคติ ๔ ประการ คือ ธรรมะ อรรถะ กามะ และ โมกษะ

อรรถ       แปลว่า     ทรัพย์สมบัติ หรือ สิ่งของที่เราต้องการ
กาม         แปลว่า     ความปรารถนา ความประสงค์ หรือ ความต้องการ การอุปโภคบริโภค
                                ซึ่งสิ่งต่างๆ ก็จัดเป็นกามเหมือนกัน

ทั้งสองอย่างนี้หมายความถึงการอันควรปฏิบัติทางอรรถคติ โดยถือหลักธรรมประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง หมายถึง การอันควรปฏิบัติทางกามคติ โดยถือหลักธรรมเช่นเดียวกัน เมื่อทั้งอรรถคติและกามคติได้รับการปฏิบัติเป็นหลักอย่างครบถ้วยแล้ว โมกษคติก็ย่อมจะสำเร็จลงด้วยโดยไม่ต้องสงสัย

 

หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7