ตระกูลของพราหมณ์ที่เข้ามาในประเทศไทยนี้มีมากมาย แต่เนื่องจากเป็นพราหมณ์ในสังคมพุทธ ดังกล่าว
แล้ว ฉะนั้น การถือวรรณะก็เป็นแต่เพียงการรักษาธรรมเนียมของตระกูลหาได้ถือว่าวรรณะเป็นการแบ่งแยก
ชั้นของบุคคลทางสังคมวิทยาแต่อย่างใดไม่ การสมรสกันในชั้นต่าง ๆ จึงไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา
คงถือเฉพาะสายเลือดของฝ่ายบิดาเท่านั้นที่จะบวชเรียน ถือเพศเป็นพราหมณ์ต่อไปได้ และเป็นที่น่าเสียดาย
ที่การใช้นามสกุลไม่มีมาแต่เดิม และไม่อาจทราบได้ว่าเปลี่ยนแปลงกันเมื่อไร จึงไม่มีทางทราบได้ว่าผู้ใด
เป็นเชื้อสายของพราหมณ์อยู่ บางทีตนเองเป็นพราหมณ์อยู่โดยสายเลือดแล้ว ก็ยังไม่รู้ตัว เช่นนี้ก็มีไม่น้อย
ทั้งนี้ เพราะการขาดจดหมายเหตุนั่นเองเท่าที่ทราบ ขอยกตัวอย่างตระกูลพราหมณ์สำคัญครั้งกรุงศรีอยุธยา
มาให้เห็นในที่นี้ คือ

พราหมณ์ศิริวัฒนะ ได้เป็นพระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์สุภาวดีศรีบรมหงษ์วงศ์บริโสดมพราหมณ์
ทิชาจารย์ พระมาหราชครู ท่านผู้นี้ได้มีลูกหลานให้กำเนิดสกุลสำคัญ ๆ สืบต่อมาจนถึงรัตนโกสินทร์นี้
มากมาย คือ

เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) เป็นต้นสกุล ทองอิน อินทรพล
กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (มุก) เป็นต้นสกุล นรินทรกุล
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นสกุล สิงหเสนี
เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์) เป็นต้นสกุล จันทรโรจวงศ์
พระยาทัศฎาจาตุรงค์ (ขนมต้ม) เป็นต้นสกุล ชัชกุล
พระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) เป็นต้นสกุล ภูมิรัตน์
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) เป็นต้นสกุล บูรณศิริ
หลวงอาสาสำแดง (แตง) เป็นต้นสกุล สุจริตกุล
พระยาราชโยธา (ทองอยู่) เป็นต้นสกุล ศิริวัฒนกุล

จะเห็นได้ว่าสกุลพราหมณ์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้จดหมายเหตุเอาไว้ ได้สืบเนื่องกันมาเป็นหลายสกุลในขณะนี้
เกิดจากพราหมณ์ศิริวัฒนะเพียงคนเดียว แต่ที่นอกเหนือไปจากนั้นที่ไม่ได้จดหมายเหตุเอาไว้ ใครจะรู้ได้ว่า
เวลานี้มีผู้ใดบ้างที่มีเชื้อสายเป็นพราหมณ์อยู่ เพราะพราหมณ์มีหน้าที่ในราชสำนักและการทำกิจพิธีของราษฎร์
มาเป็นเวลาช้านานในประเทศไทยแล้วอย่างไรก็ตามพราหมณ์นั้นเรียกว่าเป็น ทวิชาติ คือ ผู้เกิดสองหน
การเกิดครั้งแรกเกิดจากบูรพการีคือบิดามารดาผู้ให้ชีวิต การเกิดครั้งที่สอง คือ การบวชตามประเพณีพราหมณ์
ที่เรียกว่า พิธีอุปนยนสันสการ คือพิธีรับสายยัญโญปวีต เป็นพราหมณ์ตามธรรมเนียม

เราแบ่งหน้าที่พราหมณ์ออกเป็น

๑. พราหมณ์โหรดาจารย์ ผู้บูชาในลัทธ
๒. พราหมณ์อุทาคาดา สวดขับดุษฎีสังเวย
๓. พราหมณ์อัชวรรยุ จัดทำพิธีในลัทธิ

ข. สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้พราหมณ์จากปักษ์ใต้ขึ้นมารับสนอง พระบรมราชโองการ เป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และประเทศชาติ โดยให้ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการขอพรเทพเจ้าพระอิศวร ให้พระนครมีความมั่นคง แข็งแรง และมีความอุดมสมบูรณ์ หลังจากการสร้างพระนครแล้ว ทรงโปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษก เถลิงราชสมบัติ และสถาปนาพระองค์เป็นสมมุติเทพปกครองประชาราษฎร ์และทรงโปรดเกล้าฯ
ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีต่อมาทุกรัชกาล จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เล็กน้อยก็ให้เลิก กรมพิธีพราหมณ์ กระทรวงวังซึ่งสมัยนั้นเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเสีย พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราหะห์ให้
พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และประเทศชาติต่อไป โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวัง
และปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถานสำหรับพระนคร ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

ตำแหน่งพราหมณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (อักขรวิธีรักษาไว้อย่างต้นฉบับทุกประการ)
พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย์
นา ๑๐๐๐๐
พระราชครู พระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรดม นา ๕๐๐๐
พระธรรมสาตรราชโหระดาจารย์ ปลัดมหิธร นา ๓๐๐๐


หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7