เสาชิงช้า

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์ หรือ หน้าวัดสุทัศน์เทพวนาราม
แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตรงหน้าเทวสถาน เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๗ ต่อมาสร้างโรงก๊าด (โรงเก็บน้ำมันก๊าด) ขึ้น ณ ที่นั่น จึงย้ายเสาชิงช้ามา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน การสร้างเสาชิงช้าขึ้นก็เพื่อจะรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนครตามอย่างโบราณไว้ โดยถือคติว่าจะให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ลำดับที่ ๑๐ เป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

การปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ มีคำจารึกติดไว้เสาชิงช้า ดังนี้

“ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยตีลี โอโนเวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม้ ได้ให้สร้างขึ้นใหม่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายหลุยโทมัส เลียวโอเวนส์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น อันเป็นผู้ที่ได้เข้าตั้งเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า ๕๐ ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๓”

พุทธศักราช ๒๕๐๒ กระจังที่เป็นลวดลายผลุง ได้เปลี่ยนใหม่และทาสี

พุทธศักราช ๒๕๑๓ สภาพของเสาชิงช้าชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องเปลี่ยนเสาใหม่เพื่อให้มั่นคงแข็งแรง การปรับปรุงบูรณะได้พยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ งานแล้วเสร็จและได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

“เสาชิงช้ามีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังไม้ประมาณ ๒๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ ๑๐.๕๐ เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได ๒ ชั้น ทั้ง ๒ ด้าน ที่ถนนบำรุงเมืองตัดผ่านตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกเสาชิงช้า เสาชิงช้าแกนกลางคู่และเสาตะเกียบ ๒ คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน”

วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้นตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่าพระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนังเชิงนั้นก็ชอบกล เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมากในพระนครที่เป็นที่ลุ่ม……” ในใจความที่ได้จากหมาย ”…..ฉบับหนึ่งด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ รับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะขุดรากพระอุโบสถ วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า พระราชาคณะ ๒๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีเถาะ นพศก (จุลศักราช ๑๑๖๘) เพลาบ่าย….”

“…….เชิญพระศรีศากยมุนีมากรุงเทพฯ”

จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดมหาธาตุลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญพระขึ้นจามแพทางประตูท่าช้างไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายนามว่า พระศรีศากยมุนี…….”

จากข้อความที่ยกมานี้พอจะทำให้ทราบได้ว่า เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงชะลอพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๑ นั้น ทรงมีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว โดยให้สร้างวัดขึ้นกำหนดกลางพระนคร คือ บริเวณใกล้เสาชิงช้าและเทวสถาน แสดงว่าขณะนั้นมีเทวสถานและเสาชิงช้าอยู่ก่อนแล้วเป็นมั่นคง จากการสันนิษฐานตามหลักฐานดังกล่าว คงจะเสด็จไปสุโขทัยหลายครั้ง จึงได้ชะลอพระศรีศากยมุนีลงมา และพอจะอนุมานได้อีกว่า เทวรูปที่เทวสถานคงจะได้มาจากสุโขทัยเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเวลาห่างกันถึง ๒๔ ปีก็ตาม ด้วยเทวสถานได้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗

ตามคติโบราณในการสร้างพระนครใหม่นั้น ให้สร้างเทวสถานและเสาชิงช้า เพื่อบูชาพระศิวะ ผู้ทรงประทานพร พระนารายณ์ผู้ทรงรักษา พระพรหมผู้สร้าง เมื่อจัดตั้งเทวสถานแล้วก็เป็นสถานที่จะกราบไหว้เทพเจ้าสำคัญ และการสร้างเสาชิงช้าก็เป็นคติในการทำให้บ้านเมืองแข็งแรง พิธีที่ทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามลัทธินั้น คือ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ซึ่งจะทำพิธีโล้ชิงช้าแสดงตำนานเทพเจ้าตอนสร้างโลก เมื่อได้ทำพิธีนี้แล้วถือว่าการสร้างพระนคร ได้สำเร็จลงโดยสมบูรณ์ เมื่อสร้างพระนครเรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป

(จาก ประวัติเทวสถาน – พระราชครูวามเทพมุนี , ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒)