คำว่า “นาค” เล่า ในบาลีลิปิกรมและปทานุกรมก็แปลไว้ว่าประเสริฐถ้าเราจะคิดว่า ผู้ที่มีกำเนิดเป็นนาค เขาหมายความของเขาว่า เป็นชาติประเสริฐ อย่างเรามีความหมายคำว่า “ไทย” ว่าไม่เป็นข้าใคร หรือเป็นอิสระจะได้บ้างกระมัง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะเห็นว่านาคก็เป็นมนุษย์ชาติหนึ่งอย่างเรานี่แหละ ส่วนเมืองที่อยู่น่าจะอยู่ในที่ลุ่ม ถ้าจะให้เดาก็ขอเดาเอาว่า เมืองอะไรจำไม่ได้อยู่ในฮอลแลนด์บัดนี้ ที่ต้องทำกำแพงกั้นน้ำทะเลไว้ หาไม่น้ำทะเลก็ท่วมเมือง เมืองชนิดนี้ถ้าจะบัญญัติให้เป็นเมืองบาดาลดูก็เหมาะ เพราะอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล สมกับที่ว่าถาดทองของพระพุทธเจ้าจมน้ำไปอยู่เมืองนาคและภูริทัตต์ขึ้นมาจำศีลบนฝั่งน้ำ ทั้งนี้อาศัยที่นาคมีการติดต่อกับมนุษย์และเทวดาอยู่เสมอ ก็ย่อมต้องไปๆมาๆบ่อยๆ การขึ้นลงที่ต้องแทรกแผ่นดินนั้นเหตุผลที่ไม่งามยังมีเป็นอันมาก

อีกประการหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯได้เคยทรงไว้ในพระพุทธประวัติ โดยเข้าพระทัยว่านาคไม่ใช่งู และคงจะเป็นพวกที่นับถือเทวรูปนาคปรก ได้แก่พวกชฎิลกัสสปะสามพี่น้อง บางท่านเห็นว่า นาคนี้น่าจะได้แก่พวกที่อยู่ในแหลมมลายู คือจำพวกที่ดำน้ำอดทนและว่ายน้ำเก่งที่สุด ถึงกับปรากฏว่าเอาสตางค์จะจมลงถึงท้องทะเล คนพวกนี้กระมัง ณ บัดนี้ก็ยังมีอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี ที่เขาเรียกกันว่าชาวน้ำ

ส่วนภาพและรูปแกะ รูปหล่อ รูปปั้น ที่ได้เคยเห็นมา มีทั้งเป็นงู และเป็นคน แล้วแต่เรื่องที่จะมาประกอบ ในคราวเป็นคนก็ทำเป็นคน ในคราวเป็นงูก็ทำเป็นงู

เมื่อไม่สู้ช้านี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างไรก็ตาม ได้โปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปพญานาคเป็นรูปมนุษย์ ถวายไว้ตามวัดหลวงหลายวัด รูปนี้มีพังพานเป็นศีรษะงูขึ้นไปปรกอยู่บนเศียรของรูปนั้นคล้ายใส่หมวก

อนึ่ง ในพงศาวดาวเขมร กล่าวว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ พระทองเป็นโอรสกษัตริย์เขมร ก็เคยได้กับธิดาพญานาค มีนามว่านางทาวดี ถึงมีโอรส ด้วยกัน ชื่อพระเกตุมาลา และได้สืบกษัตริย์ครองประเทศเขมรกันต่อๆมาอีกสามชั่วกษัตริย์ กระทั่งถึงสมเด็จพระอุทัยราชก็ยังมีมเหสีเป็นนาคอีก คราวนี้ออกลูกครั้งแรกเป็นไข่   เอาไปทิ้ง คือฝังทรายไว้ ถึงคราวนายคงเคราซึ่งเป็นส่วยน้ำ นำน้ำในทะเลชุบศรเมืองลพบุรีไปส่ง ได้พบไข่นี้ฟักเป็นคน จึงเก็บมาเลี้ยงไว้ ให้ชื่อว่านายร่วง แต่นางนาคตนนี้ออกลูกครั้งที่สองหาตกเป็นฟองไม่ เป็นมนุษย์ทีเดียว โอรสผู้นี้ภายหลังมีนามว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์  ได้เป็นกษัตริย์เขมรที่มีเดชานุภาพมาก

สรุปความตอนหลังนี้ น่าจะเห็นว่า นาคมีลักษณะเป็นคนมากกว่าเป็นงูเพราะมีการสมรสพัวพันอยูกับมนุษย์และยักษ์มาแต่ไหนๆแล้ว จึงขอยุติเป็นครั้งสุดท้าย ให้เขียนรูปพญานาคเป็นลักษณะอย่างมนุษย์ มีหมวก หรือ มาลาปรก เป็นศีรษะนาค แบบเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงหล่อไว้


หน้าที่ : 1 | 2