เกี่ยวกับเรา Back

เทวสถาน

เทวสถาน ณ เลขที่ ๒๖๘ ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๐๐

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๑๒๗ มีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง ก่ออิฐถือปูนมีกำแพงล้อมรอบ และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาชิงช้าขึ้น เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๙ ทรงสร้างเทวสถานและเสาชิงช้าขึ้นตามประเพณีพระนครโบราณ

เทวสถาน

หรือที่คนทั่วไป เรียกว่า "โบสถ์พราหมณ์" (ด้วยเป็นเทวสถานที่มีพราหมณ์เป็นผู้ดูแลและพระราชพิธีสำคัญสำหรับพระนคร)

ภายในเทวสถานมีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง

๑) สถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนไม่มีพาไล โบสถ์หลังนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่นทุกหลัง หลังคาทำชั้นลด ๑ ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีเทวรูปปูนปั้นนูน รูปพระอิศวร พระอุมา และเครื่องมงคลรูปสังข์ กลศ กุมภ์ อยู่ในวิมาน ใต้รูปวิมานมีปูนปั้นเป็นรูปเมฆและโคนันทิ หน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลาย ภายในเทวสถานมีเทวรูปพระอิศวรทำด้วยสำริด ประทับยืนขนาด ๑.๘๗ เมตร ปางประทานพร โดยยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และยังมีเทวรูปขนาดกลางอีก ๓๑ องค์ ประดิษฐานในเบญจา (ชุกชี) ถัดไปด้านหลังเบญจา มีเทวรูปศิวลึงค์ ๒ องค์ ทำด้วยหินสีดำ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลด ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ๓ องค์ พระราชครูวามเทพมุนีเป็นผู้สร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ พระสรัสวดี ๑ องค์ (พระนางสรัสวดี นายลัลลาล ประสาททวยาส ชาวอินเดียเป็นผู้ถวาย เมื่อประมาณ ๒๐ ปี มานี้) สองข้างแท่นลด มีเทวรูปพระอิศวรทรงโคนันทิและพระอุมาทรงโคนันทิ เป็นศิลปะปูนปั้นโบราณมีมาแล้วก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้า ๒ ต้น สูง ๒.๕๐ เมตร สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ในวันแรม ๑ ต่ำ เดือนยี่ (พระอิศวร พระนางอุมา พระคเณศ) วันแรม ๕ ค่ำ เดือนนั้น เป็นพิธีที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนในแรม ๓ ค่ำ เป็นพิธีที่เพิ่งจัดให้มีขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน ภายหลังจากที่มีพระราชครูวาทเทพมุนี ได้จัดสร้างเทวรูปพระพรหมถวาย เนื่องในมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ พระนักษัตร

๒) สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างยังคงศิลปะอยุธยาที่สร้างโบสถ์ที่มีพาไล ตัวโบสถ์ไม่มีลวดลาย หลังคามีชั้นลด ๑ ชั้น หน้าบันเรียบไม่มีเทวรูปปูนปั้นเหมือนสถานพระอิศวร ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวร ๕ องค์ ล้วนทำด้วยหิน คือ หินแกรนิต ๑ องค์ หินทราย ๑ องค์ หินเขียง ๒ องค์ ทำด้วยสำริด ๑ องค์ ประดิษฐานแบบเบญจา ประทับนั่งทุกองค์ องค์หนึ่งมีขนาดสูง ๑.๐๖ เมตร เป็นประธาน ประดิษฐานอยู่ข้างหน้า องค์บริวาร ๔ องค์ ขนาดสูง ๐.๙๕ เมตร

๓) สถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างทำเช่นเดียวกับสถานพระพิฆเนศวร ภายในทำชั้นยกตั้งบุษบก ๓ หลัง หลังกลางประดิษฐานพระนารายณ์ ทำด้วยปูน ประทับยืน ๒ องค์นี้เป็นองค์จำลองของเดิมไว้ (ของเดิมได้ย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ในสมัยน้ำท่วมพุทธศักราช ๒๔๘๕) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ สูง ๒.๕๐ เมตร เรียกว่า " เสาหงส์"

บริเวณลานเทวสถาน ด้านหน้าประตูทางเข้ามีเทวาลัยขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพรหมตั้งกลางบ่อน้ำ สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๑๕ สมัยพระราชครูวามเทพมุนี

เทวสถาน ได้ขึ้นทะเบียนเป็น " โบราณวัตถุสถาน" สำคัญของชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

เสาชิงช้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์ หรือ หน้าวัดสุทัศน์เทพวนาราม แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร

ประวัติ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงหน้าเทวสถาน เมื่อวันพูธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๗ ต่อมาสร้างโรงก๊าด (โรงเก็บน้ำมันก๊าด) ขึ้น ณ ที่นั่น จึงย้ายเสาชิงช้ามา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน การสร้างเสาชิงช้าขึ้นก็เพื่อจะรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนครตามแบบอย่างโบราณไว้ โดยถือคติว่าจะให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ลำดับที่ ๑๐ เป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติ ประกาศ ณ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

การปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ มีคำจารึกติดไว้เสาชิงช้า ดังนี้

“ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยตีลี โอโนแวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม่ได้ให้สร้างขึ้นใหม่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายหลุยโทมัส เลียวโอเวนส์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น อันเป็นผู้ที่ได้เข้าตั้งเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า ๕๐ ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๓”

“เสาชิงช้ามีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังไม้ประมาณ ๒๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ ๑๐.๕๐ เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได ๒ ชั้น ทั้ง ๒ ด้าน ที่ถนนบำรุงเมืองตัดผ่านตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกเสาชิงช้า เสาชิงช้าแกนกลางคู่และเสาตะเกียบ ๒ คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน”

เทวรูปต่างๆ ที่ประดิษฐานในเทวสถานนั้น สันนิษฐานว่าจะชะลอมาจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะองค์เทวรูปที่เป็นประธานในแต่ละโบสถ์นั้น จะเป็นเทวรูปที่ได้จากสุโขทัย ด้วยเทียบเคียงศิลปะในสมัยนั้นกับเทวรูปทีมีอยู่มีลักษณะคล้ายกันมาก

“...พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าพนังเชิง ให้พระพิเรน ณ เท ขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุง ประทับสมโภช ๗ วัน

วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้นตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่าพระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนังเชิงนั้นชอบกล เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมากในพระนครที่เป็นที่ลุ่ม....” ในใจความที่ได้จากหมาย “....ฉบับหนึ่งด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ รับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะขุดรากพระอุโบสถ วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า พระราชาคณะ ๒๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีเถาะ นพศก (จุลศักราช ๑๑๖๘) เพลาบ่าย...”

“....เชิญพระศรีศากยมุนีมากรุงเทพฯ”

จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานหลวงวัดมหาธาตุลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้างไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุที่ต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายนามว่า พระศรีศากมุนี....”

จากข้อความที่ยกมานี้ พอจะทราบได้ว่า เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงชะลอพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๑ นั้น ทรงมีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว โดยให้สร้างวัดขึ้นกำหนดกลางพระนคร คือ บริเวณใกล้เสาชิงช้าและเทวสถาน แสดงว่าขณะนั้นมีเทวสถานและเสาชิงช้าอยู่ก่อนแล้วเป็นมันคง จากการสันนิษฐานตามหลักฐานดังกล่าว คงจะเสด็จไปสุโขทัยหลายครั้ง จึงได้ชะลอพระศรีศากมุนีลงมา และพอจะอนุมานได้อีกว่า เทวรูปที่เทวสถานคงจะได้มาจากสุโขทัยเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเวลาห้างกันถึง ๒๔ ปีก็ตาม ด้วยเทวสถานได้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗

ตามคติโบราณในการสร้างพระนครใหม่นั้น ให้สร้างเทวสถานและเสาชิงช้า เพื่อบูชาพระศิวะ ผู้ทรงประทานพรพระนารายณ์ผู้ทรงรักษา พระพรหมผู้สร้าง เมื่อจัดตั้งเทวสถานแล้วก็เป็นสถานที่จะกราบไหว้เทพเจ้าสำคัญ และการสร้างเสาชิงช้าก็เป็นคติในการทำให้บ้านเมืองแข็งแรง พิธีที่ทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามลัทธินั้น คือ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ซึ่งจะทำพิธีโล้ชิงช้าแสดงตำนานเทพเจ้าตอนสร้างโลก เมื่อได้ทำพิธีนี้แล้ว ถือว่าการสร้างพระนคร ได้สำเร็จลงโดยสมบูรณ์ เมื่อสร้างพระนครเรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป

(จาก ประวัติเทวสถาน – พระราชครูวามเทพมันี, ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒)

ประวัติหอเวทวิทยาคม

หอเวทวิทยาคม เป็นหอสำหรับพราหมณ์ประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งมีกล่าวในพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ.๒๓๒๘) เป็นปีที่สร้างพระนครและพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ สมควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เต็มแบบโบราณราชประเพณี จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก (ปัจจุบันคือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) และให้ตั้งโรงพิธีพราหมณ์หน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบันคือบริเวณด้านหลังตึกที่ทำการส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการ ตอนมุมกำแพงแถวตะวันออก มุมทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) ใช้เป็นที่ประกอบพิธีตามลัทธิ เรียกกันว่า หอพราหมณ์ มีชื่อเป็นทางการว่า หอเวทวิทยาคม

ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ได้มีการรื้ออาคารบริเวณนั้น เพื่อสร้างตึกที่ทำการสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตรื้อหอเวทวิทยาคม ใช้เป็นลานทางเข้าออกตรงมุมของอาคารที่สร้างขึ้นใหม่นั้น เมื่อรื้อหอเวทวิทยาคมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชครูวาทเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์นำไปใช้เป็นนามหอเวทวิทยาคม ที่จะสร้างในบริเวณเทว สถาน โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่การสร้างยังไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะพระราชครูวาทเทพมุนีผู้ริเริ่มได้ถึงแก่กรรม

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยอนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามประสงค์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๐๐ น.

หอเวทวิทยาคม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ หนักไปทางวรรณคดี พิธีกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ด้วยไมโครฟิล์ม สไลด์ และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา อภิปรายสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันตามโอกาสอันสมควร เพื่อให้หอเวทวิทยาคมเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย