พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีเดือนหก

“ย่างขึ้นเดือนหกก็เข้าฤดูฝน เป็นเวลาเริ่มต้นเพาะปลูกข้าวกล้าในนา การพระราชพิธีสำหรับเดือนนี้ก้เนื่องด้วยการเพาะปลูก คือ พิธีพืชมงคล คือ การทำขวัญพืชพรรถต่าง ๆ มีข้าวเปลือกเป็นต้น อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา คือ การที่ผู้ใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำนา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ใช้เลี้ยงชีวิตทั่วหน้า และเป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นความเจริยไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง...................”

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์อีกอย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลนั้นจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามสำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น จะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นเพียงแต่เสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยตรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากพระมหากษัตริย์และ จะ “ทรงจำ ศีลเงียบ ๓ วัน” ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้มาตลอดจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็น “เจ้าพระยาพลเทพ” คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่า “ผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นแรกนาด้วย” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ “ จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี” ดังนั้น “พระราชพิธีพืชมงคล” จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมาโดยได้จัดรวมกับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” และมีชื่อเรียกกันว่า “ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือนตอนหนึ่งว่า

“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยาม ที่ปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้นด้วยการซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดินลงมาทำเองเช่นนี้ ก้เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีน้ำใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของการตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แก่พระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่าง ๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไปด้วยเพลี้ยและสัตว์ต่าง ๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปราถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิฐานโดยเอาคำสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปราถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความมุ่งหมายของพิธีแรกนาอยู่ที่จะทำให้ “เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร” เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไรถึงในปัจจุบันก็คงเป้นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนายเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิต ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ ๓ อย่าง โดย ๒ อย่างแรกที่ว่า “อาศัยคำอธิษฐานเอาคำสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง “ นั้น ทรงหมายถึง “ พิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์” ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า “ บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง “ นั้น ทรงหมายถึง “พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์”

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพีการเพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งรยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นนอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม ต้องตามคติโหราศาสตร์ตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วก็ว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขปัจจุบันทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด”

เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรก พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้นพระยาแรกนาได้แก่ “อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง” สำหรับเทพีทั้งสี่พิจราณาคัดเลือกจาก “ภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกาตรและสหกรณ์” ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป้นเทพีคู่หาบเงินหาบทองนั้นพิจารณาคัดเลือกจาก “ข้าราชการหญิงโสด” ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ “ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป”

พระราชพิธีพืชมงคลเป็น “พิธีทำขวัญพืชพันธ์ธัญญาหาร” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหารแห่งราชอาณษจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชน ในภาษาบาลีเรียกว่า บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรือ อปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึง พืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติ ที่นำเข้า พิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้ง ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้มี “เมล็ดพืชต่าง ๆ รวม๔๐ อยาง” แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่าง ๆ พันธ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่งเป็นข้าวพันธ์ดีที่โปรดให้ปลูกในสวนจิตรลดาฯ และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

อนึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกความสำคัญของการเกษตร และ ร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติจึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

ว่าด้วยประกาศพระราชพิธีพืชมงคล

ประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เป็นประพันธคาถาภาษาบาลี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ อ่านทำนองสรภัญญะ จบแล้วดำเนินความภาษาไทยเป็นคำร้อยแก้ว เนื้อความเป็นคำอธิษฐาน ๔ ข้อดังนี้

ข้อ ๑) เป็นคำนมัสการสรรเสริญพระคุณพระธรรมเจ้า ทรงดับทุกข์ได้มีพระหฤทัยคงที่ ทรงปลูกธรรมให้งอกงามจำรูญแก่บรรดาสาวกพุทธเวไนยสืบ ๆ มา แม้ว่าโลกจะเร่าร้อนด้วยเพลิงกิเลส พระสัทธรรมอันมีผลเป็นอมตะก็ยังงอกงามได้ด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์บัดนี้เราทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น กับพระธรรมและพระสงฆ์ และจะปลูกพืชคือ บุญในพระรัตนตรัย อันเป็นเนื้อนาบุญ อย่างดี พืช คือ บุญนี้เมล็ดผลเป็นญาณ ความรู้อันเป็นเครื่องถ่ายถอนทุกข์ในโลก สามารถส่งผลให้ได้ทั้งในปัจจุบันและในกาลภายหน้าสืบ ๆ ไป ตามกาลอันควร จะให้ผลเป็นอุปการะนานัปการ ขอให้พืช คือบุญที่เราหว่านแล้ว จงส่งผลตามความปราถนา อนึ่ง “ ขอให้ข้าวกล้าและบรรดาพืชผลที่หว่าน ที่เพาะปลูกลงในที่นั้น ๆ ทั่วราชอาณาจักรเขตจงงอกงามจำรูญตามวันเวลา อย่าเสียหายโดยประการใด ๆ “

ข้อ ๒) ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่งว่า “ศรัทธา-ความเชื่อ เป็นพืชพันธ์ข้าวปลูกของเรา , ตบะ-ความเพียร เผาบาป เป็นเมล็ดฝน , ปัญญา-ความรอบรู้ เป็นแอกและไถ, หิริ-ความละอายใจ เป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก , สติ-ความระลึกได้เป็นผลและปฏัก , เราจะระวังกาย ระวังวาจา และ สำรวมระวังในอาหารทำความซื่อสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ , มีโสรัจจะ-ความสงบเสงี่ยมเป็นที่ปลดไถ , มีวิริยะ-ความเพียร เป็นแรงงานชักแอกไถ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษมจากเครื่องผุกพันที่ไปไม่กลับ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้มีผลเป็นอมตะ มิรู้ตายบุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ” ดังนี้มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐาน ว่าที่พระพทธเจ้าตรัสนี้เป็นความสัตย์จริงด้วยอำนาจแห่งความสัตย์นี้ , “ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านปลูกงอกงามทั่วภูมิมณฑลอันเป็นราชอาณาเขต”

ข้อ ๓) ยกคาถาอันเป็นภาษิตของพระเตมีย์โพธิสัตว์ ความว่า “บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร โคย่อมจำรูญพูนเกิดแก่เขา พืชที่หว่านในนาของเขาย่อมงอกงามจำเริญ เขาย่อมได้รับบริโภคผลแห่งพืชพันธุ์ที่หว่านแล้ว” และว่า “บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรอันศัตรูหมู่อมิตรไม่อาจย่ำยีได้ ดุจไม้ไทรมีรากและย่านอันงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มไปได้ฉันนั้น” มาตั้งสัตยาเป็นอธิษฐานว่าด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านเพาะปลูกในภูมิมณฑลทั่วราชอาณาเขตจงงอกงามไพบูลย์

ข้อ ๔) อ้างพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลงอกงามบริบูรณ์ทั่วราชอาณาเขต

ต่อนั้นไปดำเนินประกาศแสดงพระราชดำริ ซึ่งทรงพระราชปรารภ เรื่องพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระคัณธารราษฎร์” อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในพระราชพิธีนี้แสดงตำนานโดยลำดับ จนได้ทอดพระเนตรและได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่สำหรับตั้งในพระราชพิธี และต่อนั้นไปว่าด้วย การพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญในพระราชพิธีนี้ ทรงพระราชอุทิศแก่เทพยดา เป็นต้น แล้วอธิษฐานดังกล่าวข้างต้น

พระคาถานี้ พระสงฆ์จะสวดต่อท้ายสวดมนต์ในพระราชพิธีพืชมงคลด้วย

ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์นั้นได้ประกอบพิธี ณ มณฑลท้องสนามหลวง โดยได้ตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ อาทิ พระอิศวร พระพรหมา พระนารายณ์ พระนางอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร์ พระนางลักษมี ซึ่งในตอนกลางคืน ก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลสวัสดีแก่พืชผลด้วย

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นงานพระราชพิธีที่กระทำในตอนเช้าของรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระยาแรกนาขวัญ พร้อมด้วยเทพีขึ้นรถยนตืหลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชย ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อเดินทางมาถึงจะได้ตั้งกระบวนแห่อิสริยยศ แล้วเดินกระบวนแห่อิสริยยศไปส่งที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาขวัญ จุดธูปเทียนถวายสักการะพระเทวรูปสำคัญแล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกาย ไว้พร้อมเมื่อพระยาแรกนาขวัญตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่งผืนใดก็ได้ผ้านุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุน เตรียมออกแรกนา (ผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งพระยาแรกนาขวัญตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนั้น เป็นผ้าลายมีด้วยกัน ๓ ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งจะวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุม เพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใด ก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือถ้าหยิบผ้าได้ ๔ คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำจะมากสักหน่อย , นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่” , ถ้าหยิบได้ผืน ๕ คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี” , ถ้าหยิบได้ผ้า ๖ คืบ พยาการณ์ว่า “น้ำจะน้อย , นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่” )

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพลับพลาที่ประทับในบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และระหว่างเวลาพระฤกษ์พระยาแรกนาขวัญ จะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาขวัญเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยัง “ลานแรกนา” เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาขวัญเจิมพระโค และไถดะ ไปโดยรี ๓ รอบ ไถโดยขวาง ๓ รอบ หว่านธัญพืช พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก ๓ รอบ เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกขวัญและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน ๗ สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค (ของกิน ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และ หญ้า) เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์ (ถ้าพระโคกินข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า “ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี” , ถ้าพระโคกินถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า “ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี” , ถ้าพระโคกินน้ำ หรือ หญ้า พยาการณ์ว่า “น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี” , ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า “การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง” ) เสร็จแล้วจะได้แห่พระยาแรกนาขวัญเป็นกระบวนอิสริยยศ ออกจากโรงพิธีพราหมณ์ ผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาขวัญเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงกลับยังศาลาว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ